ต้อนรับตัววิ่ง

. ยินดีต้อนรับเข้าสู่เรื่องราวเกี่ยวกับภาษาไทย ของครูสมถวิล .

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การใช้คำ

ใบความรู้ที่ 1
เรื่อง การใช้คำและการเรียบเรียงคำเข้าประโยค
ความหมายของคำ
            ความหมายของคำ แบ่งออกเป็นหลายประเภท ในที่นี้จะแบ่งความหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.     ความหมายโดยตรง คือ ความหมายตามรูปถ้อยคำที่ปรากฏเป็นคำที่รู้ความหมายโดยทั่วไปตรงกัน เรียกว่า  “ความหมายโดยอรรถ”  เช่น
เส้น       หมายถึง               สาย แนว แถว ฯ
เก้าอี้     หมายถึง   ที่สำหรับนั่ง มีขา ยกย้ายไปได้ ฯ
2.    ความหมายโดยนัย คือ ความหมายไม่ตรงกับศัพท์ทีเดียวนัก รูปคำเป็นอย่างหนึ่ง แต่อาจจะใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น
เส้น       หมายถึง   มีผู้สนับสนุนช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง
เก้าอี้     หมายถึง   ตำแหน่ง
การเรียบเรียงคำเข้าประโยค
            การสร้างประโยค เกิดจากการเรียบเรียงคำให้ถูกต้องตามหลักภาษา สื่อความหมายได้ตรงกับที่ผู้รับสารต้องการ ลักษณะของประโยคที่ดี มีดังนี้
1.       ชัดเจน แจ่มแจ้ง และถูกต้อง
2.       กระชับ ไม่วกวนสับสน
3.       ใช้ภาษาง่าย ๆ
4.       เป็นประโยคทรงพลัง คือ เสนอความคิดและเนื้อหาได้อย่างเต็มที่จากคำที่มีจำกัด
5.       ถ้อยคำสละสลวย
การเลือกใช้คำ
1.   ใช้คำให้ถูกต้องตามชนิดของคำและตรงความหมายไม่ใช้คำนามแทนคำกริยา
ดังตัวอย่าง
                     คุณพ่อให้ช่างมาซ่อมประตูแผ่นที่ชำรุด
ควรใช้ว่า      คุณพ่อให้ช่างมาซ่อมประตูบานที่ชำรุด
                     เราต้องขืนใจกินทั้ง ๆ ที่ไม่หิวเลย
ควรใช้ว่า      เราต้องฝืนใจกินทั้ง  ๆ ที่ไม่หิวเลย
                     ดิฉันปณิธานไว้ว่า จะไม่ข้องแวะกับอบายมุข
ควรใช้ว่า      ดิฉันได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่ข้องแวะกับอบายมุข
2.   ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย กล่าวคือ ควรใช้คำเท่าที่จำเป็น คำที่มีความหมายสมบูรณ์อยู่แล้ว
      ไม่จำเป็นต้องเติมกลุ่มคำเข้าไป โดยที่ความหมายยังคงเดิม เช่น
บ้านเรือนของผู้คนปลูกเป็นระยะ ๆ
                        คำว่า ของผู้คน ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะ บ้านเรือน นั้นเป็นของ คน อยู่แล้ว
3.       ไม่ใช้คำหรือรูปลักษณะของประโยคภาษาต่างประเทศ เช่น
           ภาษานี้ง่ายต่อการเข้าใจ  
ควรใช้ว่า            ภาษานี้เข้าใจง่าย
                           หล่อนเดินมาพร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า
ควรใช้ว่า            หล่อนเดินยิ้มเข้ามา
                           เขาขานสะกอร์ผิด
ควรใช้ว่า            เขาขานคะแนนผิด
                           คุณอธิบายไม่เคลียร์
ควรใช้ว่า            คุณอธิบายไม่ชัดเจน
4.       ไม่ใช้คำที่ทำให้ประโยคกำกวม เช่น
เขาเห็นไม่เหมือนกัน
                        หมายความว่า     1. เขามองเห็นภาพต่างกัน
                                                   2. เขามีความคิดเห็นต่างกัน
5.       ใช้คำสุภาพ หลีกเลี่ยงคำสแลง คำหยาบ เช่น
มาก         แทนคำว่า          อื้อ  เพียบ  โคตร  บรรลัย
ผิดหวัง   แทนคำว่า           แห้ว  จ๋อย
ไม่ดี        แทนคำว่า          ห่วย  เฟอะฟะ
6.       ใช้คำถูกหลักไวยากรณ์ เช่น
นักเรียน 3 คน  ไม่ใช่  3 นักเรียน
7.       ไม่ใช้คำในรูปย่อ เช่น
..       ควรใช้ว่า            โรงเรียน
..      ควรใช้ว่า            ประเทศ

ใบความรู้ที่ 2
เรื่อง  การผูกประโยค
            การผูกประโยค คือ  การนำคำต่าง ๆ มาเรียบเรียงให้เกิดเป็นข้อความตามที่ต้องการ      
การผูกประโยคนี้เป็นการดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน เพื่อเน้นเนื้อความ เพื่อสรุป หรือชวนให้คิด ดังนี้
1.    ผูกประโยคให้กระชับ รัดกุม นอกจากจะใช้คำเท่าที่จำเป็นแล้ว ในบางกรณียังทำให้ประโยคกระชับได้อีก ดังนี้
1.1   ประโยคที่มีประธานหลายประธาน ควรขมวดรวมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น
ช้างสาร งูเห่า ข้าเก่า เมียรัก  ทั้งหมดนี้ อย่าได้ไว้วางใจ
บ้าน โรงเรียน วัด ล้วนเป็นแหล่ง อบรมบ่มนิสัยเยาวชนทั้งสิ้น
1.2   รวมความที่เกี่ยวข้องกันเข้าเป็นประโยคเดียวกัน เช่น
เขาไปวัด  แต่มีรสนิยมสูง              (ความไม่เกี่ยวข้องกัน)
เขาไปวัด แต่ไม่ได้นำอาหารไปถวายพระ (ความเกี่ยวข้องกัน)
2.    ผูกประโยคให้กะทัดรัดชัดเจน คือ ประโยคที่ไม่ยืดยาว ทำให้เสียเวลาอ่านหรือฟัง ทั้งๆ ที่มีเนื้อความเท่ากัน เช่น
      อันธรรมดาคนเราเกิดมาในโลกนี้ บ้างก็จนเหลือเกิน บ้างก็รวยเหลือล้น                                     (ความไม่กะทัดรัด)
       มีคนทั้งจนและรวย                       (ความกะทัดรัด)
3.    ผูกประโยคให้มีน้ำหนัก คือ การสร้างประโยคให้ข้อความตอนท้ายมีน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น ๆ เป็นข้อความสรุป นั่นเอง เช่น
       ชนชาวไทยร่วมชาติของข้าพเจ้า  จงตื่นเถิด
       ลูกที่ประพฤติตนเหลวแหลก  ทำให้พ่อแม่อายุสั้น
4.    ผูกประโยคข้อความ คือ การใช้บทเชื่อมที่ขัดแย้งกัน ทำให้ผู้อ่านฉุกคิดได้ดีกว่าการใช้ถ้อยคำคล้อยตามกัน ทำให้เกิดรสความดีขึ้น เช่น
      ยาดีขมปาก  แต่เป็นประโยชน์ต่อคนไข้
       ผู้ตำหนิ คือ ผู้บอกทางสวรรค์ให้
       ชายควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภรรยา ไม่ใช่มีภรรยาเป็นเครื่องนำความรัก
5.     ผูกประโยคขนานความ คือ การสร้างประโยคให้มีเนื้อความต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกัน โดยใช้สันธานคู่ เป็นคำเชื่อม ได้แก่  เมื่อใดเมื่อนั้น    ฉันใดฉันนั้น  คราวใดคราวนั้น ฯ เช่น
       เมื่อใดไร้พ่อแม่  เมื่อนั้นเธอจะรู้ว่าชีวิตคืออะไร
        ความรักของพ่อแม่มีมากเพียงใด ความทุกข์ที่เกิดจากลูกประพฤติตัวไม่ดีก็มีมากเพียงนั้น